กระดาษรักษ์โลก

ลดโลกร้อนได้ ด้วยการเลือกใช้กระดาษ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากระดาษตกเป็นจำเลยสำคัญของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผมพอจะมองเห็นการเชื่อมโยงของแนวคิดนี้ หลายๆคนเชื่อว่าเพราะกระดาษผลิตจากเยื่อไม้เป็นวัตถุดิบสำคัญ การที่เราใช้กระดาษมากมีค่าเท่ากับการตัดไม้ที่มากขึ้น ดังนั้นหลายๆคนจึงบอกว่าต้องช่วยลดกระดาษ ใช้กระดาษให้น้อยลง กระดาษไม่ดีต้องหาสิ่งทดแทน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีความจริงเพียงครึ่งเดียว อาจจะถูกที่ว่าลดกระดาษ การตัดไม้อาจจะลดลงบ้าง แต่กับประเด็นเดียวกันนี้ถามว่า ต้นไม้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษอย่างเดียวหรือไม่ ซึ่งคำตอบชัดๆ คือ ไม่ใช่ จริงๆแล้วไม้ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบของเฟอร์นิเจอร์ วัสดุสำหรับการตกแต่งภายใน อุปกรณ์อีกหลายอย่างที่เราเห็นและใช้ในชีวิตประจำวัน กระดาษเพียงแค่ขอแบ่งเยื่อไม้จากต้นไม้บางชนิดเท่านั้นเพื่อมาเป็นวัตถุดิบ นอกจากนั้นต้นไม้ที่นำมาใช้ผลิตกระดาษในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจากการเพาะเลี้ยงอย่างมีระบบ ในสถานที่ที่เรียกว่าฟาร์มกระดาษ ซึ่งมีการวางแผนการใช้งานและการปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้กระดาษแค่อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยลดโลกร้อน แต่ต้องไปมองถึงการลดการใช้พลังงานและการปล่อยของเสียจากการผลิตอีกด้วย

       ทีนี้คำถามสำคัญก็มาถึงว่า ผู้ใช้กระดาษอย่างเราๆจะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้หรือไม่? คำตอบก็ชัดเจนเช่นกันว่า ได้อย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่จากการลดปริมาณกระดาษที่ท่านใช้ลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะกระทบต่อชีวิตประจำวันของท่านอย่างมาก หากแต่เป็นการเลือกใช้กระดาษหรือเลือกซื้อสิ่งพิมพ์ที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จริงๆแล้วปัจจุบันมีกระบวนการผลิตกระดาษมากมายที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในที่นี้ผมจะนำเสนอกระดาษสองประเภท ที่เข้าใจกระบวนการผลิตได้ง่าย ดังนี้ครับ

     1) กระดาษรีไซเคิล (Recycle Paper): เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าการรีไซเคิลช่วยทำให้ลดการใช้เยื่อไม้ลง ซึ่งการรีไซเคิลก็มีระดับขั้นเช่นกัน เช่น รีไซเคิล100% หรือ รีไซเคิลบางส่วนผสมกับวัตถุดิบใหม่บางส่วน อย่างไรก็ตามคุณภาพที่ได้จากกระดาษรีไซเคิลอาจจะไม่เท่ากับกระดาษที่ผลิตจากเยื่อไม้บริสุทธิ์ 100% (Virgin Fiber 100%) ได้ เลยมีคำถามมากมายว่าแล้วเราจะทำอย่างไรถ้าต้องใช้กระดาษที่มีคุณภาพสูงใช้เยื่อไม้ 100% แต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้กระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นของเตรียมเนื้อเยื่อไม้ก็ช่วยได้เช่นกันดังจะกล่าวในข้อถัดไป

     2) กระดาษจากกระบวนการ Mechanical Pulping: ฟังชื่อแล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นศัพท์เทคนิคมากๆ แต่จริงๆแล้ว กระบวนการผลิตเข้าใจง่ายและมีส่วนในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่เกิดของเสียไม่มากและมีการใช้สารเคมีน้อยกว่ากระบวนการผลิตกระดาษประเภทใกล้เคียงกันในหลายๆชนิด

       ก่อนที่จะเล่าถึง Mechanical Pulping ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กระดาษหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น กระดาษปอนด์ จะมีกระบวนการผลิตจากเนื้อเยื่อที่ผ่านการฟอกสี โดยใช้วิธีทางเคมี (Chemical Pulping) กล่าวคือ มีการใช้สารเคมี ความดัน และความร้อน เพื่อกำจัดสารลิกนิน ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่ยึดเนื้อเยื่อของไม้ไว้ด้วยกัน กระบวนการนี้ช่วยให้ได้เยื่อไม้ออกมาผลิตกระดาษโดยมีสารลิกนินน้อยที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการฟอกสีให้เกิดความขาวและความสว่างของกระดาษ อันเกิดจากการสังเคราะห์โดยสารเคมีเป็นหลัก
    
       อย่างไรก็ตาม กระบวนการ Mechanical Pulping ใช้วิธีที่ต่างออกไป คือ แทนที่จะใช้สารเคมีกำจัดลิกนินในเนื้อไม้ จะใช้วิธีสับและตัดเนื้อไม้เป็นชิ้นๆ เพื่อแยกเนื้อเยื่อไม้ออกมาใช้ทำกระดาษ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้สามารถเปลี่ยนเนื้อไม้กว่า 90% เป็นเยื่อไม้ที่พร้อมจะนำมาผลิตกระดาษ อีกทั้งมีการสูญเสียเนื้อเยื่อไม้บริสุทธิ์น้อยมากเมื่อเทียบกับกระบวนการอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้พลังงาน และน้ำน้อยลง รวมทั้งมีน้ำเสียจากกระบวนการที่น้อยลงอีกด้วย ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่กระบวนการผลิตนี้จะพบเห็นได้ในกระดาษประเภท Book Paper และ Magazine Paper ในปัจจุบัน

       ถ้าวันนี้ท่านเป็นเจ้าของงานพิมพ์ หรือ กำลังเลือกกระดาษที่ใช้ในงานพิมพ์ของท่าน ท่านสามารถมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อนได้จากการตัดสินใจเลือกกระดาษที่มีผลิตด้วยกระบวนการ Recycle หรือ Mechanical Pulping ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

       สิ่งสำคัญ คือ เมื่อใช้กระดาษที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ต้องเผยแพร่ความรู้และคุณสมบัติของกระดาษของท่านให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ ซึ่งนอกจากจะเป็นชื่อเสียงภาพลักษณ์องค์กรแล้ว ยังเป็นการทำให้ผู้บริโภครู้ว่าพวกเขามีทางเลือกในการลดโลกร้อนได้เช่นกัน ผ่านการเลือกซื้องานพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาของทุกคนครับ วันนี้เราต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้และทางเลือกใหม่ๆ ให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วมทำให้โลกเราน่าอยู่ต่อไป

Visitors: 71,505